เฮนรี ฟอร์ด (อังกฤษ: Henry Ford) (30 กรกฎาคม พ.ศ. 2406 – 7 เมษายน พ.ศ. 2490) เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทฟอร์ดมอเตอร์ และได้ชื่อว่าเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนก่อให้เกิด "ชนชั้นกลาง" ขึ้นมาในสังคมอเมริกัน ฟอร์ดเป็นผู้แรกที่ประยุกต์ระบบสายพานการผลิตเข้ากับการผลิตยานยนต์ในจำนวนมาก ๆ ความสำเร็จนี้ไม่เพียงแต่ปฏิวัติการผลิตเชิงอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลอย่างมากกับวัฒนธรรมสมัยใหม่ โดยนักทฤษฎีสังคมหลายคนถึงกับเรียกช่วงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสังคมช่วงนี้ว่า "แบบฟอร์ด" (Fordism)
ฟอร์ด เป็นวิศวกรของบริษัทเอดิสัน ในเมืองดีทรอยต์ เขาได้รับมอบหมายให้ศึกษาและพัฒนาเครื่องยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมัน จนกระทั่งสามารถพัฒนารถยนต์สี่ล้อคันแรกสำเร็จในปี 2439 เขาตั้งชื่อว่า "ฟอร์ด ควอดริไซเคิล" (Ford Quadricycle) ต่อมา ในปี 2446 เขาได้ตั้ง "บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์" (Ford Motor Company) ร่วมกับเพื่อน ๆ นักประดิษฐ์ พ.ศ. 2446 เขาริเริ่ม นำระบบสายพานมาใช้ในการผลิต โดยให้อุปกรณ์ไหลไปตามสายพานและให้คนงานประกอบรถยนต์ทีละส่วน และทำให้ผลิตรถยนต์หนึ่งคันเพียงชั่วโมงครึ่ง เขาผลิตรถยนต์ ฟอร์ด โมเดล ที จากเดิมราคา 850 ดอลลาร์ เหลือเพียง 360 ดอลลาร์ ออกจำหน่ายเป็นครั้งแรก ปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากอเมริกันชนเป็นอย่างดี เพราะเป็นรถยนต์ที่สวยงาม มีความแข็งแรงทนทาน และมีราคาถูกกว่ารถยนต์ยี่ห้ออื่นในตลาดเกือบครึ่ง รถยนต์รุ่นนี้ผลิตจนถึงปี 2470 จำหน่ายได้ทั้งหมดราว 15 ล้านคัน
ต่อมาเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 บริษัทฟอร์ดก็ยังประสบความสำเร็จในการผลิตเครื่องบิน "ฟอร์ด 4เอที ไตรมอเตอร์" (Ford 4AT Trimotor) ฟอร์ดมีส่วนในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ให้ก้าวหน้าขึ้นกลายเป็นธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ฟอร์ดถึงแก่กรรม 7 เมษายน 2490 ฟอร์ดได้รับการยกย่องให้เป็น "บิดาแห่งการผลิตระบบสายพาน" ปัจจุบันบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ ได้ขยายกิจการธุรกิจรถยนต์ไปทั่วโลก โดยเป็นเจ้าของธุรกิจรถยนต์แบรนด์อเมริกันคือ "ฟอร์ด" (Ford) "ลินคอล์น" (Lincoln) และ "เมอร์คิวรี" (Mercury) และปัจจุบันยังมีหุ้น แอสตันมาร์ติน (Aston Martin) อยู่ นอกจากนี้ยังร่วมลงทุนกับบริษัทผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นคือ "มาสด้า" (Mazda) และเคยเป็นเจ้าของแบรนด์อังกฤษคือ จากัวร์ (Jaguar) แลนด์ โรเวอร์ (Land Rover) และแบรนด์สวีเดนคือ "วอลโว่" (Volvo) ฟอร์ด มอเตอร์ทำรายได้ต่อปีประมาณ 12.6 พันล้านบาท (ปี 2549) มีคนพนักงานทั่วโลกราว 280,000 คน (ปี 2549)